วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โรคปวดหลัง Back pain

--> โรคปวดหลัง
-->
อาการปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อย เกือบทุกช่วงอายุ ปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนหนุ่มสาวมักเกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากมีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงขา
            ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นอาการปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดจากมีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นกระบวนการเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่อเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังอาจจะทำให้มีอาการปวดหลัง เกิดกระดูกงอกออกมาซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังอาจจะเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วม อาการปวดร้าวลงขาบริเวณน่อง  ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณขาและปลายเท้า บางครั้งถ้ามีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกหลายระดับก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดบริเวณน่องทั้ง 2 ข้างเมื่อเวลาเดิน  อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อผู้ป่วยนั่งพัก
อาการปวดหลังส่วนล่างมี 2 ประเภทได้แก่
  1. อาการปวดหลังแบบปฐมภูมิ (Primary Low Back Pain) หรือเกิดเนื่องจากโครงสร้างของกระดูกสันหลังเอง (mechanical LBP) ซึ่งไม่มีสาเหตุที่จำเพาะเจาะจงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังน้อยกว่า 3 สัปดาห์  มักสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำอยู่ที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดเช่น การจาม การไอ หรือบิดตัวทำให้กระตุ้นเกิดอาการปวด
  2. อาการปวดหลังแบบมีพยาธิสภาพ (Secondary Underlying Pathology Low Back Pain) สามารถบ่งบอกพยาธิสภาพได้ชัดเจนเช่น มะเร็งลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง การติดเชื้อของหมอนรองกระดูกสันหลัง
สัญญาณสำคัญของอาการปวดหลังที่บ่งบอกว่าต้องรับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ได้แก่  
  1. ไข้
  2. มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
  3. ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัสสาวะเล็ด
  4. มีอาการอ่อนแรงของขา หรือสูญเสียสมดุลของร่างกาย
  5. มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือปวดขณะพัก อาจจะมีหรือไม่มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  6. อาการชารอบๆทวารหนัก หรือสูญเสียความรู้สึกรอบๆทวารหนัก
  7. ได้รับผลประโยชน์ การชดเชยจากการปวดหลัง เกี่ยวกับอารมณ์ และการชดเชยการหยุดงาน
  8. มีการใช้สารเสพติดมาก่อน
  9. มีการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกิน หรือฉีด
  10. ได้รับอุบัติเหตุ
  11. น้ำหนักลด
แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง
 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ทราบว่าสาเหตุของการปวดหลังนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น เกิดจากการเกร็งตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม การติดเชื้อ เนื้องอกของกระดูกสันหลัง แนวทางการดูแลเบื้องต้นได้แก่
  • การใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณแผ่นหลังที่มีอาการปวด โดยประคบครั้งละ 15 – 20 นาที วันละประมาณ 4 – 6 ครั้ง ควรเอาน้ำแข็งมาห่อด้วยผ้าเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้  หลังจากผ่านไป 1 วันแล้วอาจจะสลับกันระหว่างการประคบร้อน และการประคบเย็นประมาณ 20นาทีทุก 3 – 4 ชั่วโมง
  • แนะนำให้ปรับเปลี่ยนจัดท่าทางให้ถูกต้องเหมาะสมในการทำงาน
  • ผู้ป่วยที่ยังกระฉับกระเฉงมักจะมีการฟื้นตัวหายได้ไวกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงการทำกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกายสามารถค่อยๆทำได้หลังอาการปวดหลังประมาณ 72 – 96 ชั่วโมง
  • เวลานอนให้นอนราบ เอาหมอนเล็กๆรองบริเวณใต้เข่า หรือนอนตะแคงแล้วเอาหมอนวางไว้ตรงบริเวณ ระหว่างขา 2 ข้างจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น
  • การใช้ยาลดปวดพาราเซทตามอล หรือยาลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดหลัง
  • การฉีดยาเพื่อช่วยให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณก้นกบเข้าสู่โพรงประสาทเพื่อลดการอักเสบ และขยายข่องประสาท
การป้องกันอาการปวดหลัง
            โดยปกติอายุมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่จะช่วยชลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังโดย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
  • ยกของให้ถูกวิธี
  • รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • พยายามจัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม อย่าให้ตัวงอไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง หรือท่ายืน 



--> ลักษณะของหมอนรองกระดูกสันหลังปกติ
-->ภาพแนวตัดขวางแสดงความสัมพันธ์ของหมอนรองกระดูก และเส้นประสาท
-->
รูปภาพแสดงการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท และทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาทแคบลง

-->
รูปภาพแสดงการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท และทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาทแคบลง


ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น