วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การรักษาด้วยสเตียรอยด์ : คุณประโยชน์ VS ผลข้างเคียง

การรักษาด้วยสเตียรอยด์ : คุณประโยชน์ VS ผลข้างเคียง 


จากการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่  29 กันยายน 2556 เรื่อง ปวดหลัง : ทางเลือก รักษาได้ไม่ผ่าตัด พบว่ามีท่านผู้อ่านได้ติดต่อสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงได้รวบรวมคำถามที่มากมายที่น่าสนใจ และเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะเกิดข้อสงสัยในการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษา อาการปวดหลัง จึงนำประเด็นต่างๆมาตอบข้อสงสัยเหล่านี้ครับ

ฉีดยาสเตียรอยด์แล้ว มีผลนานเท่าไหร่ ฉีดได้บ่อยเท่าไร่  ฉีดยาสเตียรอยด์มีปัญหา หรือภาวะแทรกซ้อนอย่างไรบ้าง อันตรายหรือไม่

การ ใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาอาการปวดหลัง หรืออาการปวดหลังร้าวลงขานั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาพยาบาลนั้นคือการวินิจฉัยโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ อย่างถูกต้องแม่นยำก่อน จึงนำมาสู่การรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง  การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์นั้นได้ผลดีมากในการลดอาการปวดในระยะประมาณ 1-3 เดือนในผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและมีการกดทับเส้นประสาท  นอกจากนี้  การตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทนั้นขึ้นอยู่กับ
1. ระดับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาทจากภาวะเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง
2. ลักษณะการทำงานของผู้ป่วย และพฤติกรรมของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยยังคงกลับไปทำงาน ยกของหนัก และนั่งกับพื้น ซักผ้า ปลูกต้นไม้ หรือยกของไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้อาการปวดหลังไม่สามารถหายได้ อาการอาจจะดีขึ้นเฉพาะในช่วงที่ฉีดยา หรือรับประทานยาเท่านั้น


 มีผู้ป่วยจำนวนมากก็จะบอกว่า "ห้ามทำไปหมดทุกอย่างเลยเหรอ"  อันที่จริงแล้วร่างกายของเราเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดการเสื่อมไปตามกาลเวลา บางครั้งเราเคยก้มยกของหนัก ทำงานหนัก นั่งกับพื้นได้ในวัยเด็ก และวัยรุ่นก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เรายังทำพฤติกรรมแบบเดิมมักจะมีอาการปวดหลังก็เนื่องมากจาก กระบวนการเสื่อมของร่างกาย การยืดหยุ่น รองรับน้ำหนักของหมอนรองกระดูกลดลง กระดูกอ่อนที่บริเวณกระดูกข้อต่อมีการสึกหรอทำให้เกิดการเสียดสีของกระดูก เพิ่มมากขึ้น เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาท จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการชาร้าวลงขาด้วย และชาบริเวณหลังเท้าและส้นเท้า เปรียบเสมือนกับอายุ 60 ปี เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปที่อายุ 30 ปีได้ เฉกเช่นเดียวกับร่างกายของคนเรา เมื่อเกิดการเสื่อมของกระดูกและข้อ ก็ไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปให้แข็งแรงเหมือนกับวัยหนุ่มสาวได้ แต่เราสามารถชะลอ ป้องกันได้ไม่ให้เกิดการเสื่อมไปมากกว่าเดิม ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับการทำงานของผู้ป่วยนั่นเอง

รูปภาพเปรียบเทียบการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ภาพซ้ายจะเห็นหมอนรองกระดูกสันหลังมีความสูงปกติ เปรียบเทียบกับภาพขวามือที่พบว่าความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังลดลง ร่วมกับมีการเสื่อมของกระดูกข้อต่อ ทำให้ช่องทางเดินประสาทแคบลง ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจึงมักมีอาการปวดหลัง และปวดร้าวหรือชาร้าวลงขา โดยเฉพาะที่บริเวณน่องของขาข้างนั้น



คน ส่วนใหญ่มักจะกังวลถึงผลเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาพยาบาล หรือฉีดเฉพาะที่ เพราะได้ยินมานานเกี่ยวกับผลเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์ อันที่จริงแล้วการใช้ยาทุกชนิดเปรียบเสมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ยาทุกชนิดก็เหมือนกันที่มีทั้งคุณประโยชน์ และผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรู้และความชำนาญของผู้ใช้ โดยปกติแล้ว ในทางการแพทย์ ยาสเตียรอยด์นั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมากที่นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในโรคต่างๆ มากมาย ยาสเตียรอยด์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวด ลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี ถ้าใช้อย่างถูกต้องและไม่เกินปริมาณที่ร่างกายสามารถรับได้ก็ไม่ได้เกิดผล ข้างเคียงตามมาอย่างที่คนกลัว



ใน การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่ โดยปกติมักจะฉีดไม่เกิน 3 - 5 ครั้ง อันเนื่องมาจากว่าถ้าฉีดรักษามากกว่านี้แสดงว่า การฉีดยาอาจจะไม่ได้ผล และโรคที่เป็นนั้นมีระดับรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และอีกประการหนึ่งคือการฉีดยาเฉพาะที่ ในบางครั้งทำการฉีดเข้าไปโดยตรงที่ตำแหน่งที่ปวด โดยไม่ทราบว่าตำแหน่งที่ฉีดนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น บางครั้งอาจมีการฉีดยาเข้าไปในเส้นเอ็นหรือเส้นประสาทของผู้ป่วย จึงมีผลทำให้เส้นเอ็นฉีกขาดได้ง่าย  ดังนั้นในปัจจุบันที่มีการนำเครื่องเสียงความถี่สูงมาช่วยในการระบุตำแหน่ง ของการฉีดยาจะช่วยทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถระบุถึงตำแหน่งที่จะฉีดยาได้ แม่นยำมากขึ้น จึงลดผลข้างเคียงของการฉีดยาลงได้ และใช้ปริมาณยาชาในปริมาณที่ลดลง




     โดยส่วนใหญ่ผลเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์มักเกิดจากผู้ป่วยไปซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยาสเตียรอยด์นี้ มักจะผสมอยู่ในรูปของยาสมุนไพรพื้นบ้าน ยาจีน ซึ่งมักจะระบุว่าเป็นยารักษาสารพัดโรค ส่วนใหญ่เวลารับประทานยากลุ่มนี้แล้ว อาการปวดมักจะหายไปทันที ผู้ป่วยจึงมักไปซื้อยามารับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงเกิดผล เสียต่างๆมากมายตามมาอาทิเช่น การเกิดโรคกระดูกพรุน ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ เกิดอาการบวมตามร่างกาย บางครั้งอาจเกิดกระดูกหัวสะโพกตายอันเนื่องมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์มาเป็น ระยะเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคพุ่มพวง (SLE) ซึ่งบางครั้งแพทย์จำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาเป็นระยะเวลานาน เพื่อควบคุมอาการโรค 

    การใช้ยาสเตียรอยด์อาจจะมีผลต่อผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจจะทำให้ระดับน้ำตาล เพิ่มสูงขึ้นได้ และอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งมักจะเป็นชั่วคราวประมาณ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้การฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการสะอึกได้พบไม่มาก และมักจะเป็นประมาณ 3 วันหลังฉีดยา

    สิ่งสำคัญในการรักษาและป้องกันอาการปวดหลัง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้แก่ การนั่งกับพื้น การก้มยกของที่ไม่ถูกวิธี การนอนคว่ำ การนั่งเก้าอี้ต่ำๆ เช่น การนั่งซักผ้า การนั่งทำอาหาร หรือการนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิง จะทำให้น้ำหนักของร่างกายส่วนใหญ่กระทำต่อกระดูกสันหลังบริเวณเอว ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อ มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิธีการบริหารหลัง


ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น