วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อาการปวดหลัง และโรคกระดูกพรุน

กรณีศึกษาน่าสนใจในผู้สูงอายุที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง

เพื่อ ความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องโรคกระดูกพรุน ผมอยากจะอธิบายให้ฟังดังรายละเอียดดังนี้ครับ ปัญหาโรคกระดูกพรุนคือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีปริมาณความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง โครงสร้างภายในของกระดูกมีการเสื่อมสลายทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กระดูกหักได้ง่ายมากขึ้นกว่าคนปกติ
โดยทั่วไปอาการแสดงของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมักจะมี 2 ระยะคือ
1. ในระยะเริ่มต้นที่มวลกระดูกเริ่มลดลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไร เลย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นในผู้หญิงที่เริ่มหมดประจำเดือน และมีปัจจัยเสี่ยง ช่วงนี้สามารถตรวจสอบได้จากการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเท่านั้น
2. ในระยะที่กระดูกพรุนชนิดรุนแรง คือ มีกระดูกโปร่งบางมาก ร่วมกับมีกระดูกสันหลังหักยุบ หรือการเกิดกระดูกสะโพกหัก ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม และสังเกตได้ว่าส่วนสูงของผู้ป่วยลดลง ในบางครั้งอาการปวดหลังอาจจะร้าวมาที่บริเวณหน้าอก หลังโก่ง ทานข้าวได้น้อยลง อืดท้องแน่นท้อง มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป บางครั้งอาจเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งบริเวณข้อมือ กระดูกหักง่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่นในผู้ป่วยรายที่ผมจะยกตัวอย่างต่อไปนี้ครับ

ภาพของผู้ป่วยที่มีหลังโก่งเนื่องจากมีการยุบตัวของกระดูกสันหลัง

นอกจากหลังโก่ง ผู้ป่วยยังมีอาการปวดหลัง ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ลงน่องและชาบริเวณหลังเท้าร่วมด้วย





ภาพรังสีแสดง การยุบของกระดูกสันหลังหลายระดับ วิธีการดูคือจะสังเกตจากความสูงของกระดูกสันหลังเทียบกันในแต่ละระดับจะพบ ว่าส่วนของกระดูกสันหลังที่ยุบลงนั้นจะมีความสูงของกระดูกสันหลังลดลงเมื่อ เทียบกับกระดูกสันหลังที่อยู่ติดกัน

















ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคกระดูกพรุนได้แก่
  • ประจำเดือนหมดวัยกว่าปกติโดยเฉพาะก่อนอายุ  45 ปี 
  • มีโรคประจำตัวเช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไทรอยด์เป็นพิษ 
  • ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำในปริมาณมาก และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทั้งในการรักษาโรค หรือรับประทานเอง
  • มีประวัติครอบครัวทางแม่เคยเป็นโรคกระดูกพรุน หรือเคยมีกระดูกสะโพกหักในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวฝั่งของมารดา 
  • สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอลเป็นประจำ 
  • กระดูกหักง่ายหลังจากอายุ 40 ปี 
สำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุนได้แก่
  • ในวัยเด็ก วัยรุ่น ให้ดื่มนม ออกกำลังกายให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่น การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ 
  •  ในวัยที่อายุมากกว่า 40 ปี ให้ได้รับปริมาณของแคลเซียมให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจรับประทานแคลเซียมชนิดเม็ดเช่น caltrate 600 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 เม็ด ก็จะเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากมีการวิจัยพบว่าโดยเฉลี่ย คนไทยได้ปริมาณแคลเซียมจากอาหารประมาณ 300 - 400 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าได้รับแคลเซียมเสริมเข้าไปก็จะทำให้เท่ากับปริมาณพอเพียงที่ร่างกาย ต้องการ 
  • ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีแนะนำให้ไปตรวจวัดมวลกระดูกจากเครื่องใหญ่ที่เรียกว่า DEXA (Dual Energy absorptiometry) ซึ่งจะตรวจวัดมวลกระดูก 2 ตำแหน่งคือ ที่บริิเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว และ กระดูกสะโพก 
  • ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงแนะนำให้ตรวจวัดมวล กระดูกได้เลย เพื่อประเมินสภาพของมวลกระดูกในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร 
หลังจากที่เราตรวจวัดมวลกระดูกมาแล้ว ไม่ใช่ว่าเมื่อมวลกระดูกติดลบน้อยกว่า  - 2.5 จะมีความจำเป็นต้องทานยาป้องกันกระดูกพรุนทุกครั้ง ซึ่งมักจะทำให้เกิดการรักษาโรคกระดูกพรุนมากเกินความจำเป็น  (Over-treament)  วัตถุประสงค์ของการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนคือ เพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักในอนาคต หรือลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักในอนาคต ซึ่งเราจำเป็นต้องมีการคำนวณความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักในอนาคตของผู้ ป่วยในแต่ละราย ซึ่งเราสารถเข้าไปประเมินความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักในแต่ละบุคคลได้ใน http://www.shef.ac.uk/FRAX/tool.aspx?country=57  ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักจากองค์การอนามัย โรค ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของคนไทย ซึ่งจะช่วยทำให้ท่านสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในแต่ละ บุคคลได้ ดังนั้นการตัดสินใจพิจารณาในการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุน เราจะพิจารณาจากความสเี่ยงในการที่จะเกิดกระดูกหักภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าคำนวณออกมาแล้วพบว่า
1.กระดูกตำแหน่งที่สำคัญหัก มีโอกาสหักมากกว่าร้อยละ 20 หรือ
2. กระดูกสะโพก มีโอกาสหักมากกว่าร้อยละ 3   
จึงจะพิจารณาในการให้ยาในการรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งถ้ามีค่าน้อยกว่านี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุน

ใน กรณีที่ผู้ป่วยเกิดกระดูกสะโพกหัก หรือกระดูกสันหลังยุบแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้มีความจำเป็นต้องรับการรักษาโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอีก เช่น ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน พบว่าถ้าไม่ได้ให้การรักษาที่เหมาะสมจะพบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกระดูกหัก เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 20

สำหรับปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ
1. ยาที่ยับยั้งการทำลายกระดูก เช่น
  • ยาในกลุ่ม Bisphosphonates ที่มีหลากหลายชนิดเช่น ชนิดที่รับประทานอาทิตย์ละ 1 เม็ดเช่น Alendronate (Fosamax plus), Risedronate (Actonel), หรือชนิดที่ฉีดปีละ 1 ครั้งเช่น Zoledronate (Aclasta)
  • ยา Strontium (Protaxos) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำลายกระดูก 
  • ยาในกลุ่มที่เป็นแอนติบอดี้ มีผลยับยั้งการทำลายกระดูกที่ระดับเซลล์ และไม่มีผลต่อไต ได้แก่ Denosumab (Prolia) ซึ่งใช้ฉีดใต้ผิวหนังทุกๆ 6 เดือน 
สำหรับระยะเวลาในการรักษาโรคกระดูกพรุน แพทย์มักจะแนะนำให้ยาแก่ผู้ป่วยประมาณ 3 - 5 ปี 

2. ยาที่กระตุ้นการสร้างกระดูก  ซึ่งมีผลในการสร้างกระดูกโดยตรง ได้แก่ teriparatide (Forteo)  มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีกระดูกหักหลายตำแหน่ง เช่น กระดูกสันหลังยุบมากกว่า 2 ตำแหน่ง กระดูกสะโพกหัก หรือเช่นในผู้ป่วยรายที่ยกตัวอย่างข้างต้น ที่มีกระดูกสันหลังยุบมากกว่า 2 ตำแหน่ง ยานี้ใช้ฉีดใต้ผิวหนังทุกวัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการลดปวดหลังได้ด้วย

การพิจารณาให้ ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละราย และดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งต้องมีการพูดคุยและอธิบายประโยชน์ ข้อดี ข้อเสียของยาแต่ละประเภทให้ผู้ป่วยฟังอีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการป้องกันการเกิดกระดูกหักในอนาคต





วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รายการคุยกับหมอสวนดอก เรื่อง ปวดหลังรักษาได้ ไม่ผ่าตัด

คุยกับหมอสวนดอกเรื่อง ปวดหลังรักษาได้ไม่ผ่าตัด ช่อง 11




ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
Taninnit Leerapun , MD, MS, MBA
Assistant Professor,
Assistant Dean
Faculty of Medicine, Chiang Mai University
Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 081-5303666
Line : ID search : keng3407
Facebook:
     Taninnit Leerapun   http://www.facebook.com/taninnit
     Dr.Keng หมอเก่ง  http://www.facebook.com/Doctorkeng

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

VDO การฉีดยาสเตียรอด์เข้าโพรงประสาทด้านหลังโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงระบุตำแหน่ง Epidural steroid injection

VDO การฉีดยาสเตียรอด์เข้าโพรงประสาทด้านหลังโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงระบุตำแหน่งVDO การฉีดยาสเตียรอด์เข้าโพรงประสาทด้านหลังโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงระบุตำแหน่ง

เพื่อรักษาอาการปวดหลัง หรืออาการปวดหลังร้าวลงขา ช่วยลดอาการปวด ลดการอักเสบของเส้นประสาทและข้อต่อของกระดูกสันหลัง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการปวดหลังดีขึ้น






วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การรักษาด้วยสเตียรอยด์ : คุณประโยชน์ VS ผลข้างเคียง

การรักษาด้วยสเตียรอยด์ : คุณประโยชน์ VS ผลข้างเคียง 


จากการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่  29 กันยายน 2556 เรื่อง ปวดหลัง : ทางเลือก รักษาได้ไม่ผ่าตัด พบว่ามีท่านผู้อ่านได้ติดต่อสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงได้รวบรวมคำถามที่มากมายที่น่าสนใจ และเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะเกิดข้อสงสัยในการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษา อาการปวดหลัง จึงนำประเด็นต่างๆมาตอบข้อสงสัยเหล่านี้ครับ

ฉีดยาสเตียรอยด์แล้ว มีผลนานเท่าไหร่ ฉีดได้บ่อยเท่าไร่  ฉีดยาสเตียรอยด์มีปัญหา หรือภาวะแทรกซ้อนอย่างไรบ้าง อันตรายหรือไม่

การ ใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาอาการปวดหลัง หรืออาการปวดหลังร้าวลงขานั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาพยาบาลนั้นคือการวินิจฉัยโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ อย่างถูกต้องแม่นยำก่อน จึงนำมาสู่การรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง  การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์นั้นได้ผลดีมากในการลดอาการปวดในระยะประมาณ 1-3 เดือนในผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและมีการกดทับเส้นประสาท  นอกจากนี้  การตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทนั้นขึ้นอยู่กับ
1. ระดับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาทจากภาวะเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง
2. ลักษณะการทำงานของผู้ป่วย และพฤติกรรมของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยยังคงกลับไปทำงาน ยกของหนัก และนั่งกับพื้น ซักผ้า ปลูกต้นไม้ หรือยกของไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้อาการปวดหลังไม่สามารถหายได้ อาการอาจจะดีขึ้นเฉพาะในช่วงที่ฉีดยา หรือรับประทานยาเท่านั้น


 มีผู้ป่วยจำนวนมากก็จะบอกว่า "ห้ามทำไปหมดทุกอย่างเลยเหรอ"  อันที่จริงแล้วร่างกายของเราเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดการเสื่อมไปตามกาลเวลา บางครั้งเราเคยก้มยกของหนัก ทำงานหนัก นั่งกับพื้นได้ในวัยเด็ก และวัยรุ่นก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เรายังทำพฤติกรรมแบบเดิมมักจะมีอาการปวดหลังก็เนื่องมากจาก กระบวนการเสื่อมของร่างกาย การยืดหยุ่น รองรับน้ำหนักของหมอนรองกระดูกลดลง กระดูกอ่อนที่บริเวณกระดูกข้อต่อมีการสึกหรอทำให้เกิดการเสียดสีของกระดูก เพิ่มมากขึ้น เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาท จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการชาร้าวลงขาด้วย และชาบริเวณหลังเท้าและส้นเท้า เปรียบเสมือนกับอายุ 60 ปี เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปที่อายุ 30 ปีได้ เฉกเช่นเดียวกับร่างกายของคนเรา เมื่อเกิดการเสื่อมของกระดูกและข้อ ก็ไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปให้แข็งแรงเหมือนกับวัยหนุ่มสาวได้ แต่เราสามารถชะลอ ป้องกันได้ไม่ให้เกิดการเสื่อมไปมากกว่าเดิม ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับการทำงานของผู้ป่วยนั่นเอง

รูปภาพเปรียบเทียบการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ภาพซ้ายจะเห็นหมอนรองกระดูกสันหลังมีความสูงปกติ เปรียบเทียบกับภาพขวามือที่พบว่าความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังลดลง ร่วมกับมีการเสื่อมของกระดูกข้อต่อ ทำให้ช่องทางเดินประสาทแคบลง ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจึงมักมีอาการปวดหลัง และปวดร้าวหรือชาร้าวลงขา โดยเฉพาะที่บริเวณน่องของขาข้างนั้น



คน ส่วนใหญ่มักจะกังวลถึงผลเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาพยาบาล หรือฉีดเฉพาะที่ เพราะได้ยินมานานเกี่ยวกับผลเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์ อันที่จริงแล้วการใช้ยาทุกชนิดเปรียบเสมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ยาทุกชนิดก็เหมือนกันที่มีทั้งคุณประโยชน์ และผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรู้และความชำนาญของผู้ใช้ โดยปกติแล้ว ในทางการแพทย์ ยาสเตียรอยด์นั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมากที่นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในโรคต่างๆ มากมาย ยาสเตียรอยด์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวด ลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี ถ้าใช้อย่างถูกต้องและไม่เกินปริมาณที่ร่างกายสามารถรับได้ก็ไม่ได้เกิดผล ข้างเคียงตามมาอย่างที่คนกลัว



ใน การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่ โดยปกติมักจะฉีดไม่เกิน 3 - 5 ครั้ง อันเนื่องมาจากว่าถ้าฉีดรักษามากกว่านี้แสดงว่า การฉีดยาอาจจะไม่ได้ผล และโรคที่เป็นนั้นมีระดับรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และอีกประการหนึ่งคือการฉีดยาเฉพาะที่ ในบางครั้งทำการฉีดเข้าไปโดยตรงที่ตำแหน่งที่ปวด โดยไม่ทราบว่าตำแหน่งที่ฉีดนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น บางครั้งอาจมีการฉีดยาเข้าไปในเส้นเอ็นหรือเส้นประสาทของผู้ป่วย จึงมีผลทำให้เส้นเอ็นฉีกขาดได้ง่าย  ดังนั้นในปัจจุบันที่มีการนำเครื่องเสียงความถี่สูงมาช่วยในการระบุตำแหน่ง ของการฉีดยาจะช่วยทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถระบุถึงตำแหน่งที่จะฉีดยาได้ แม่นยำมากขึ้น จึงลดผลข้างเคียงของการฉีดยาลงได้ และใช้ปริมาณยาชาในปริมาณที่ลดลง




     โดยส่วนใหญ่ผลเสียของการใช้ยาสเตียรอยด์มักเกิดจากผู้ป่วยไปซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยาสเตียรอยด์นี้ มักจะผสมอยู่ในรูปของยาสมุนไพรพื้นบ้าน ยาจีน ซึ่งมักจะระบุว่าเป็นยารักษาสารพัดโรค ส่วนใหญ่เวลารับประทานยากลุ่มนี้แล้ว อาการปวดมักจะหายไปทันที ผู้ป่วยจึงมักไปซื้อยามารับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงเกิดผล เสียต่างๆมากมายตามมาอาทิเช่น การเกิดโรคกระดูกพรุน ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ เกิดอาการบวมตามร่างกาย บางครั้งอาจเกิดกระดูกหัวสะโพกตายอันเนื่องมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์มาเป็น ระยะเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคพุ่มพวง (SLE) ซึ่งบางครั้งแพทย์จำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาเป็นระยะเวลานาน เพื่อควบคุมอาการโรค 

    การใช้ยาสเตียรอยด์อาจจะมีผลต่อผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจจะทำให้ระดับน้ำตาล เพิ่มสูงขึ้นได้ และอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งมักจะเป็นชั่วคราวประมาณ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้การฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการสะอึกได้พบไม่มาก และมักจะเป็นประมาณ 3 วันหลังฉีดยา

    สิ่งสำคัญในการรักษาและป้องกันอาการปวดหลัง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้แก่ การนั่งกับพื้น การก้มยกของที่ไม่ถูกวิธี การนอนคว่ำ การนั่งเก้าอี้ต่ำๆ เช่น การนั่งซักผ้า การนั่งทำอาหาร หรือการนั่งเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิง จะทำให้น้ำหนักของร่างกายส่วนใหญ่กระทำต่อกระดูกสันหลังบริเวณเอว ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อ มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิธีการบริหารหลัง


ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





ปวดหลัง : ทางเลือก รักษาได้ไม่ผ่าตัด






ปวดหลัง : ทางเลือก รักษาได้ไม่ผ่าตัด




อาการปวดหลัง นับว่าเป็นปัญหาสำคัญพบได้บ่อยที่สุดของโรคกระดูกและข้อ สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกวัย ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว วัยทำงานจนถึงวัยผู้สูงอายุ สาเหตุของอาการปวดหลังในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานส่วนใหญ่มักเกิดจากหมอนรอง กระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท และพฤติกรรมการจัดท่าในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง การยกของไม่ถูกวิธี ส่วนในวัยผู้สูงอายุสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังมีการอักเสบ เกิดกระดูกงอกเนื่องจากการเสื่อมมากดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงไปที่บริเวณสะโพก บริเวณด้านหลังของต้นขา และบางครั้งอาจมีการปวดร้าวลงบริเวณน่อง ร่วมกับมีอาการชาบริเวณหลังเท้า และส้นเท้าร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากอาการปวด มีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เมื่อท่านมีอาการและอาการแสดงเกี่ยวกับอาการปวดหลัง มีสัญญาณเตือนบางอย่างที่ทำให้ท่านต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย หรืออาจจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่ มีอาการไข้ เมื่อรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน มีอาการปวดหลังร่วมกับมีปัสสาวะเล็ดหรือไม่สามารถกลั้นอุจจาระและปัสสาวะได้ มีอาการอ่อนแรงของขา หรือเสียสมดุลของร่างกาย มีอาการปวดหลังมากตอนกลางคืนหรือมีอาการปวดมากแม้ไม่ได้ทำงาน หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
การรักษาอาการปวดหลัง ทำได้โดย
1. การปฏิบัติตัว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้มีอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การนั่งกับพื้น การก้มยกของหนัก เพราะน้ำหนักของร่างการส่วนใหญ่จะลงตรงบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น การใช้เก้าอี้นั่งควรใช้ชนิดที่มีพนักพิงหลัง เพราะจะช่วยลดแรงที่กระทำต่อกระดูกข้อต่อบริเวณสันหลังส่วนเอว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการแก้ที่สาเหตุของอาการปวด เพราะถ้าผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งการลดน้ำหนักตัว อาการปวดของผู้ป่วยก็มักจะไม่ทุเลาลง และถึงแม้ว่าจะรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ในที่สุดผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการปวดอีกครั้งหนึ่ง
2. การใช้ยาลดอาการปวด และยาต้านการอักเสบ ชนิดรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการปวด
3. การใช้ยาสเตียรอยด์ร่วมกับยาชาเฉพาะที่ฉีดเข้าไปยังช่องว่างโพรงประสาท บริเวณกระดูกก้นกบ จากการศึกษาวิจัยของ ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ร่วมกับยาชาเฉพาะที่เข้าไปยังช่อง ว่างของโพรงประสาท โดยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยในการระบุตำแหน่งที่ฉีดสามารถลดอาการปวด หลังภายหลังการติดตามผลการรักษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนในผู้ป่วยที่มีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาทได้ นอกจากนี้ยังทำให้การทำงานกิจวัตรประจำวัน และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการปวดทำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดได้สะดวกมากขึ้น สามารถลดอุบัติการณ์การผ่าตัดกระดูกสันหลังให้ผู้ป่วยได้ กลไกในการลดอาการปวดจากการฉีดยาสเตียรอยด์จะช่วยลดการบวม การอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ทำให้การไหลเวียนของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่บริเวณเส้นประสาทบริเวณกระดูก สันหลังดีขึ้น เส้นประสาทยุบบวมจากการอักเสบ จึงทำให้อาการปวดหลังของผู้ป่วยดีขึ้น
วิธีการนี้เหมาะสมเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรักษาด้วยการ ผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือมีความเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด นอกจากนี้ยังใช้ได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ยังมีอาการปวดหลังและอาการปวดชาร้าวลงขา ซึ่งพยาธิสภาพที่เกิดหลังผ่าตัดคือ การมีพังผืดไปกดรัดเส้นประสาทหลังจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงขาอยู่ การฉีดยานี้จะช่วยแยกสลายพังผืดที่กดรัดรอบ ๆ เส้นประสาท และลดการอักเสบของเส้นประสาท และเนื้อเยื่ออ่อน ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ทำให้ลดอาการปวดให้ผู้ป่วย อีกทางหนึ่งด้วย ยิ่งในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จึงมีการนำคลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวด์มาช่วยเป็นเครื่อง ชี้นำ บ่งบอกถึงตำแหน่งของบริเวณที่จะฉีดยา ทำให้การฉีดยาเข้าโพรงประสาทมีความแม่นยำมากขึ้น และสามารถทำได้โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
4.การทำกายบริหารและการยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นอาการปวดหลังเป็นปัญหาที่ สำคัญดังนั้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทั้งในเรื่องของการนั่งทำงานที่ไม่ ถูกต้อง การยกของที่ไม่ถูกวิธี การรักษาด้วยการใช้ยารับประทานในผู้สูงอายุควรระวังการใช้ยาในกลุ่มต้านการ อักเสบเพื่อลดอาการปวด เพราะจะทำให้มีผลต่อกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้องและบางครั้งอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงบอกตำแหน่ง นับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น




















การบริหารสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง



การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทโดยใช้เครื่องเสียงความถี่สูงช่วยในการระบุตำแหน่งที่ฉีด






ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com , www.taninnit.com ,Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง