วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง

การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง


โรคปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ

การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมีเป้าประสงค์ได้แก่

 การประเมินถึงความรุนแรงของอาการปวดหลัง และการจำกัดการทำงาน การประเมินได้แก่

    ระดับความรุนแรงของอาการปวด ซึ่งมีเครื่องมือมาตรวัดความเจ็บปวดได้แก่ Visual analog scale (เส้นวัด 0 - 100 มิลลิเมตร) และ numeric pain scales (ตัวเลข 0 - 10)
    การวัดหน้าที่การทำงาน มีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยในการวัดประเมินการทำงานในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังได้แก่ Roland Morris Disability Questionnaire และ Oswestry Disability Index


 การประเมินเพื่อแยกโรคที่มีพยาธิสภาพที่รุนแรงในบริเวณกระดูกสันหลังซึ่งได้แก่

 มะเร็งท่ีบริเวณกระดูกสันหลัง (Spinal metastases) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะภายในอื่นๆ ผู้ป่วยมักจะมีประวัติของการเป็นมะเร็งของอวัยะหนึ่งอวัยวะใดมาก่อน นำ้หนักลด มีอาการปวดหลังมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน อาการปวดไม่ตอบสนองด้วยวิธีการรักษาแบบปกติ อายุมากกว่า 50 ปี มีอาการปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะกะปิดกะปรอย มีอาการเดินลำบาก มีอาการอ่อนแรงของระยางค์ส่วนล่าง
 กระดูกสันหลังยุบอันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุน (OSteoporotic collapsed vertebra) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยสูงอายุ มีปัญหาโรคกระดูกพรุน มีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
 การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง (Spinal infection) ผู้ป่วยมักมีไข้ อาจมีภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง
 ภาวะการอักเสบของกระดูกสันหลังโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรค Ankylosing spondylitis ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะมีอาการปวดตอนกลางคืน มีข้อยึดติดในตอนเช้า อาการปวดอาจจะดีขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย
 ภาวะเส้นเลือดแดง aorta โป่งพอง (aortic aneurysm) ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีประวัติเป็นโรคผนังหลอดเลือดตีบตัน มีก้อนที่ท้อง มีอาการปวดตอนกลางคืน และบางครั้งอาจจะมีอาการปวดร้าวลงขาได้

กลุ่มอาการของโรคที่มีลักษณะต้องระวังและรับการตรวจสอบหาสาเหตุเพิ่มเติมได้แก่

อายุมากกว่า 50 ปี
อุจจาระลำบาก และกะปริดกะปรอย (Fecal incontinence)
มีปัสสาวะลำบาก  และกะปริดกะปรอย (Urinary incontinence)
ไข้
ลักษณะการเดินที่ผิดปกติไป (Gait abnormality)
มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
มีภาวะการกดภูมิคุ้มกัน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าทางเส้นเลือด
ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยา
เป็นโรคกระดูกพรุน
มีอาการปวดหลายตำแหน่ง
มีอาการปวดขณะพัก
มีอาการปวดมากตอนกลางคืน
มีอาการชาบริเวณรอบๆทวารหนัก (Saddle numbness)
มีประวัติการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ
มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน
นำ้หนักลดที่ไม่ทราบสาเหตุ
มีอาการอ่อนแรงในส่วนของขา
   
    ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพที่รุนแรงบริเวณกระดูกสันหลัง การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีและการตรวจเลือดจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆเหล่านี้เป็นอย่างมาก

 การประเมินเพื่อดูสภาวะของระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่การประเมิน

ระบบการรับความรู้สึกของร่างกาย (sensory systems)
ระบบการเคลื่อนไหวของระยาวงค์ (Motor systems)
ปฏกิริยาการตอบกลับอัตโนมัติของกล้ามเนื้อ (Deep tendon reflex)

 การประเมินเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงได้แก่

ประเด็นของการได้ค่าชดเชยจากอาการปวดหลัง
สภาวะของอารมณ์ของผุ้ป่วย
ปัญหาทางครอบครัว
พฤติกรรมของความกลัว
ความเชื่อที่ไม่เหมาะสม
การที่มีผลกระทบทางระบบประสาทเช่น มีอาการชา อาการอ่อนแรงของระยางค์
มีความไม่พึงพอใจต่องานที่ทำอยู่
เคยมีประวัติปวดหลังมาก่อน และความรุรแรงของอาการปวดหลังค่อนข้างมาก
ความคาดหวังในการรักษาที่ไม่เป็นจริง

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





ปวดหลัง รักษาได้ไม่ผ่า

 
ปวดหลัง     มีทางเลือกในการรักษา
ผ่าตัด????

                  แนวทางในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาการปวดหลังร้าวลงขา อาการชาที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งโดยไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด คือการฉีดยาสเตียรอด์ชนิดฉีดเฉพาะที่เข้าไปยังช่องว่างของเส้นประสาทบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง การฉีดยาจะมีประโยชน์อย่างมากในการลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาท การรักษาด้วยการฉีดยานี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการควบคุม บรรเทาอาการปวดหลังและปวดขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบประคับประคองเพื่อลดอุบัติการณ์การผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วย
การฉีดยาเข้าบริเวณช่องว่างรอบๆเยื่อหุ้มเส้นประสาท
การฉีดยาสเตียรอด์ชนิดฉีดเฉพาะที่เข้าไปยังช่องว่างของเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังเป็นวิธีการที่ใช้บ่อยในการรักษาอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา การฉีดยานี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดโดยการลดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ สามารถทำกายภาพบำบัดได้โดยไม่มีอาการปวด นอกจากนี้การฉีดยายังจะช่วยลดอาการชาและอาการอ่อนแรงอันเนื่องมาจากการอักเสบของเส้นประสาทได้             ยาที่ฉีดเข้าไปเป็นยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่ ร่วมกับยาชาซึ่งจะไปอยู่รอบๆเส้นประสาทที่อยู่ภายในโพรงกระดูกสันหลัง ยาชาอาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาในช่วงแรกประมาณ 1 – 6 ชั่วโมง คุณสมบัติที่สำคัญของยาสเตียรอยด์คือเป็นยาที่มีฤทธิ์การลดการอักเสบที่ดีมาก เมื่อฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในตำแหน่งของเส้นประสาทที่มีการอักเสบและการบวม ยานี้จะช่วยลดการอักเสบเป็นอย่างมาก การลดการอักเสบก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย การลดการบวมของเส้นประสาทจะช่วยทำให้เส้นประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยลดอาการชาและอาการอ่อนแรง
            การฉีดยาสเตียรอยด์นี้จะมีผลช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราวขึ้นอยู่กับลักษณะความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล ซึ่งอาจมีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 1 – 3 เดือน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ผู้ป่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดได้ง่าย สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ เช่น ในกรณีของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากในระยะแรกอันเนื่องมาจากสารเคมีที่อยู่ภายในเนื้อของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ฉีกขาดเป็นตัวการที่สำคัญในการทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ มักจะใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ในการที่หมอนรองกระดูกเกิดการซ่อมแซมตนเองจนกระทั่งไม่มีการรั่วของสารเคมีออกมาระคายเคืองต่อเส้นประสาท ซึ่งยาสเตียรอด์ชนิดฉีดเฉพาะที่จะช่วยลดอาการปวดเมื่อเริ่มต้นและทำให้อาการต่างๆของผู้ป่วยทุเลาลงเป็นอย่างมาก

 วิธีการนี้เหมาะสมเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลัง  หรือมีความเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด ตัวอย่างเช่นในผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องของโรคช่องทางเดินของโพรงประสาทตีบตัน (spinal stenosis) อันเนื่องมาจากกระบวนการเสื่อมของกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้ช่องทางเดินประสาทตีบตัน มีผลทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทที่อยู่ภายในโพรงของกระดูกสันหลังทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ชา ปวดร้าวลงขา การรักษาด้วยวิธีการยาสเตียรอด์ชนิดฉีดเฉพาะที่เข้าไปในโพรงประสาทจะช่วยลดการอักเสบ และลดการบวมของเส้นประสาท รวมทั้งลดความดันที่เกิดขึ้นต่อเส้นประสาท จะทำให้บรรเทาอาการปวดและอาการชาแก่ผู้ป่วยลงได้
นอกจากนี้การฉีดยาสเตียรอด์ชนิดฉีดเฉพาะที่ยังใช้ได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการปวดหลัง และอาการปวดชาร้าวลงขา (Postlaminectomy Syndrome) ซึ่งพยาธิสภาพที่เกิดหลังจากการผ่าตัดคือการที่มีพังผืดไปกดรัดเส้นประสาทหลังจากการผ่าตัดทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้างลงขาอยู่ การฉีดยาสเตียรอด์ชนิดฉีดเฉพาะที่จะเป็นการช่วยแยกสลายพังผืดที่กดรัดรอบๆเส้นประสาท และลดการอักเสบของเส้นประสาทและเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่รอบๆ ทำให้ช่วยลดอาการปวดให้แก่ผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย
            ในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า จึงได้มีการนำเครื่องเสียงความถี่สูง หรือเครื่อง ultrasound มาช่วยเป็นเครื่องชี้นำ บ่งบอกถึงบริเวณที่จะฉีดยา ทำให้การฉีดยาเข้าโพรงประสาทมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ภาพแสดงการใช้เครื่องเสียงความถี่สูง Ultrasound มาช่วยในการกำหนดตำแหน่งที่ใช้ในการฉีดยา ร่วมกับการยืนยันว่าปลายเข็มอยู่ภายในตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจากการฉีดยา


ภาพเครื่องเสียงความถี่สูง แสดงถึงช่องทางเดินประสาทที่จะฉีดยา



ภาพเครื่องเสียงความถี่สูง แสดงถึงช่องทางเดินประสาทที่จะฉีดยา
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ
www.taninnit.com
www.facebook.com/Doctorkeng
Tel 089-8535700, 081-5303666
tleerapun@gmail.com



โรคปวดหลัง Back pain

--> โรคปวดหลัง
-->
อาการปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อย เกือบทุกช่วงอายุ ปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนหนุ่มสาวมักเกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากมีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงขา
            ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นอาการปวดหลังส่วนใหญ่มักเกิดจากมีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นกระบวนการเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่อเกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังอาจจะทำให้มีอาการปวดหลัง เกิดกระดูกงอกออกมาซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังอาจจะเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วม อาการปวดร้าวลงขาบริเวณน่อง  ร่วมกับมีอาการชาที่บริเวณขาและปลายเท้า บางครั้งถ้ามีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกหลายระดับก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดบริเวณน่องทั้ง 2 ข้างเมื่อเวลาเดิน  อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อผู้ป่วยนั่งพัก
อาการปวดหลังส่วนล่างมี 2 ประเภทได้แก่
  1. อาการปวดหลังแบบปฐมภูมิ (Primary Low Back Pain) หรือเกิดเนื่องจากโครงสร้างของกระดูกสันหลังเอง (mechanical LBP) ซึ่งไม่มีสาเหตุที่จำเพาะเจาะจงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังน้อยกว่า 3 สัปดาห์  มักสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำอยู่ที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดเช่น การจาม การไอ หรือบิดตัวทำให้กระตุ้นเกิดอาการปวด
  2. อาการปวดหลังแบบมีพยาธิสภาพ (Secondary Underlying Pathology Low Back Pain) สามารถบ่งบอกพยาธิสภาพได้ชัดเจนเช่น มะเร็งลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง การติดเชื้อของหมอนรองกระดูกสันหลัง
สัญญาณสำคัญของอาการปวดหลังที่บ่งบอกว่าต้องรับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ได้แก่  
  1. ไข้
  2. มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
  3. ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัสสาวะเล็ด
  4. มีอาการอ่อนแรงของขา หรือสูญเสียสมดุลของร่างกาย
  5. มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือปวดขณะพัก อาจจะมีหรือไม่มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  6. อาการชารอบๆทวารหนัก หรือสูญเสียความรู้สึกรอบๆทวารหนัก
  7. ได้รับผลประโยชน์ การชดเชยจากการปวดหลัง เกี่ยวกับอารมณ์ และการชดเชยการหยุดงาน
  8. มีการใช้สารเสพติดมาก่อน
  9. มีการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกิน หรือฉีด
  10. ได้รับอุบัติเหตุ
  11. น้ำหนักลด
แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง
 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ทราบว่าสาเหตุของการปวดหลังนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น เกิดจากการเกร็งตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม การติดเชื้อ เนื้องอกของกระดูกสันหลัง แนวทางการดูแลเบื้องต้นได้แก่
  • การใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณแผ่นหลังที่มีอาการปวด โดยประคบครั้งละ 15 – 20 นาที วันละประมาณ 4 – 6 ครั้ง ควรเอาน้ำแข็งมาห่อด้วยผ้าเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้  หลังจากผ่านไป 1 วันแล้วอาจจะสลับกันระหว่างการประคบร้อน และการประคบเย็นประมาณ 20นาทีทุก 3 – 4 ชั่วโมง
  • แนะนำให้ปรับเปลี่ยนจัดท่าทางให้ถูกต้องเหมาะสมในการทำงาน
  • ผู้ป่วยที่ยังกระฉับกระเฉงมักจะมีการฟื้นตัวหายได้ไวกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงการทำกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกายสามารถค่อยๆทำได้หลังอาการปวดหลังประมาณ 72 – 96 ชั่วโมง
  • เวลานอนให้นอนราบ เอาหมอนเล็กๆรองบริเวณใต้เข่า หรือนอนตะแคงแล้วเอาหมอนวางไว้ตรงบริเวณ ระหว่างขา 2 ข้างจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น
  • การใช้ยาลดปวดพาราเซทตามอล หรือยาลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ มีประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดหลัง
  • การฉีดยาเพื่อช่วยให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณก้นกบเข้าสู่โพรงประสาทเพื่อลดการอักเสบ และขยายข่องประสาท
การป้องกันอาการปวดหลัง
            โดยปกติอายุมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่จะช่วยชลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังโดย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
  • ยกของให้ถูกวิธี
  • รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • พยายามจัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม อย่าให้ตัวงอไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง หรือท่ายืน 



--> ลักษณะของหมอนรองกระดูกสันหลังปกติ
-->ภาพแนวตัดขวางแสดงความสัมพันธ์ของหมอนรองกระดูก และเส้นประสาท
-->
รูปภาพแสดงการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท และทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาทแคบลง

-->
รูปภาพแสดงการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท และทำให้ช่องทางเดินเส้นประสาทแคบลง


ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





 

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โรคปวดต้นคอ

-->
โรคปวดต้นคอ

อะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ

                  อาการปวดต้นคออาจจะเกิดจากมีความผิดปกติในบริเวณเยื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และกระดูกและข้อในบริเวณกระดูกสันหลังบริเวณต้นคอ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ หรือมีการเสื่อมสลายของกระดูกบริเวณต้นคอและหมอนรองกระดูกต้นคอเป็นเวลานาน ในผู้ป่วยส่วนน้อยอาการปวดต้นคออาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือเนื้องอก ในผู้ป่วยบางคนอาการปวดต้นคออาจจะเกิดจากสาเหตุการปวดที่บริเวณหลังส่วนบน หรือปวดจากบริเวณไหล่
                  โรคกระดูกต้นคอเสื่อม และการอักเสบ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้นมักจะมีลักษณะของข้อต่อระหว่างกระดูกเสื่อม มักเกิดในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดเนื่องจากมีการสึกหรอของข้อต่อในบริเวณกระดูกต้นคอ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอ และคอยึดติดเคลื่อนไหวลำบาก
                  หมอนรองกระดูกคอเสื่อม ก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ หมอนรองกระดูกทำหน้าที่คล้ายตัวรับและป้องกันการกระแทกระหว่างกระดูกในบริเวณต้นคอ ในผู้ป่วยที่มีหมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อม ซึ่งมักจะมีอายุตั้งแต่ 40 ปี ส่วนประกอบในบริเวณส่วนกลางของหมอนรองกระดูกซึ่งปกติมักมีลักษณะคล้ายเยลลี่มีการเสื่อมสลาย  หมอนรองกระดูกแฟบลงทำให้ช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง ทำให้เพิ่มแรงกดที่บริเวณของข้อต่อระหว่างกระดูกทำให้ข้อมีการเสื่อมมากขึ้นกว่าเดิม หมอนรองกระดูกคออาจจะมีการยื่นเข้าไปในช่องทางเดินของเส้นประสาท ทำให้มีการกดทับเส้นประสาท

เมื่อไหร่ที่ควรจะไปพบแพทย์

                  ถ้ามีอาการปวดต้นคอเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ได้รับอุบัติเหตุเช่น อุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ ตกจากที่สูง  ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจร่างกาย ถ้าไม่ได้รับอุบัติเหตุท่านควรจะไปพบพทย์เมื่อ
·      มีอาการปวดเรื้อรัง และยังคงอยู่
·      อาการปวดรุนแรง
·      มีอาการปวดต้นคอ ร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงแขน หรือขา
·      มีอาการปวดต้นคอร่วมกับอาการปวดศรีษะ ชา และอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

ทำไมจึงต้องไปพบแพทย์
                  ท่านควรไปพบศัลยแพทย์กระดูก (ศัลยแพทย์ออร์โทปิดิกส์) เพื่อที่จะได้รับการตรวจประเมิน เพื่อให้ได้การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันที่ถูกต้อง  โดยแพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย แล้วให้การวินิจฉัยเบื้องต้น  การส่งถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูรายละเอียดของกระดูกบริเวณต้นคอว่ามีอะไรผิดปกติบ้าง ถ้าแพทย์ยังสงสัยในเรื่องการวินิจฉัยก็อาจจะส่งผู้ป่วยไปตรวจด้วยเครื่อง MRI ซึ่งสามารถให้รายละเอียดได้ดีที่สุดในปัจจุบัน


รักษาอาการปวดต้นคออย่างไร

                  การรักษาอาการปวดต้นคอส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรักษาให้หายได้ด้วยการพัก  รับประทานยา  การทำกายภาพบำบัด การใช้เครื่องพยุงคอ และการปรับเปลี่ยนลักษณะกิจวัตรประจำวัน

ควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง

·      พยายามใช้ท่าทางอย่างถูกต้องในขณะนั่งทำงาน หรือในท่ายืน โดยไม่พยายามที่จะก้มคอมากเกินไปดังภาพ
·      ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อบริเวณคอ
·      เวลานอนพยายามใช้หมอนหนุนที่บริเวณต้นคอและศรีษะ
·      ถ้ามีอาการปวดเกร็งที่ต้นคอมากอาจสวมใส่เครื่องพยุงลำคอ
·      การทำกายภาพบำบัดโดยการประคบด้วยความร้อน และการดึงส่วนลำคอโดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการได้
·      อาหารไม่มีบทบาทในการรักษาโรคปวดต้นคอ หรือทำให้เกิดอาการมากขึ้น 

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





สารพันปัญหาเรื่องปวดหลัง

-->
โรคปวดหลัง

ทำไมถึงเกิดอาการปวดหลังบ่อย

                  โรคปวดหลังเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ พบว่าผู้ใหญ่ประมาณ 4 คนใน 5 คนเคยมีอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้ผู้ป่วยหยุดงาน และขาดรายได้
                  กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวประกอบด้วยโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อที่ซับซ้อน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างร่างกายส่วนบน(ทรวงอก และแขน) กับร่างกายส่วนล่าง(เชิงกราน และขา) กระดูกสันหลังส่วนนี้มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่นการหันตัว การเอนตัว ก้มตัว รวมถึงช่วยในเรื่องของความแข็งแรงที่สามารถทำให้เรายืน เดิน และยกของได้ การทำงานที่เหมาะสมของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังส่วนล่างนี้มีความจำป็นต่อกิจวัตรประจำวันตลอดเวลา อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นจะทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เดินหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก และทำให้คุณภาพของชีวิตแย่ลง

ให้การวินิจฉัยโรคปวดหลังได้อย่างไร

                  ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง และสามารถตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน หรือการรับประทานยาแก้ปวด ศัลยแพทย์กระดูกสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด  การถ่ายภาพเอกซ์เรย์ การตรวจด้วยภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนใหญ่แพทย์จะถามผู้ป่วยเกี่ยวกับลักษณะของอาการปวดหลังว่าท่านมีลักษณะอาการปวดอย่างไร เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อนหรือไม่

มีอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของโรคปวดหลัง

                  มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่นอุบัติเหตุ, ผลจากอายุที่มากขึ้น ทำให้มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง และโรคมะเร็งที่ลุกลามมาที่กระดูกโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีที่มีอาการเจ็บปวดมากและขณะนอนพักก็ยังมีอาการปวดอยู่
                  อาการปวดหลังเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสันหลังเกร็งตัว กล้ามเนื้อของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวนนี้เป็นส่วนที่สำคัญในเรื่องของการเคลื่อนไหว การทรงตัว  และกิจวัตรประจำวันของร่างกาย เช่นการยืน การเดิน การยกของ ถ้าเรายืนหรือเดินในท่าที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อมีการตึงเครียดมากขึ้น ต่อมาทำให้มีอาการปวดหลังได้ ซึ่งการใช้งานของกล้ามเนื้อหลังมากไปเช่น การยกของหนัก การยืนหรือเดินนานๆทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคปวดหลัง บางครั้งอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ หรือในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการปวดหลังเนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น และท้องที่โตขึ้นจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนแปลงทำให้มีอาการปวดหลังมากขึ้น
                  อายุ-  พบว่าในผู้สูงอายุจะมีกระบวนการเสื่อมสลายของหมอนรองกระดูกสันหลัง และข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลัง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับทุกคนแล้วแต่ว่าใครจะเป็นมากหรือน้อย ถ้ามีการเสื่อมมากก็จะทำให้เกิดอาการหลังแข็ง และปวดหลังตามมา ซึ่งข้อต่อของกระดูกที่มีการเสื่อมสลายจะมีกระดูกงอกออกมาเนื่องจากการเสื่อมของข้อ (อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป)  กระดูกที่งอกออกมานี้อาจจะไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ร่วมกับปวดร้าวไปยังบริเวณสะโพก และร้าวลงไปตามด้านหลังของต้นขา นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะมีอาการชา ซึ่งขึ้นอยู่กับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้นๆ ส่วนใหญ่มักมีอาการชาที่บริเวณด้านข้างของขา
                  กระดูกพรุนและเกิดกระดูกสันหลังยุบ-เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกจะบางลงโดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนทำให้กระดูกไม่สามารถทนต่อแรงกระแทกได้จึงทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบลงในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน
                  หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง 2 ชิ้น  ในช่วงวัยเด็ก และวัยหนุ่มสาวตรงกลางของหมอนรองกระดูกจะเป็นส่วนที่อ่อนนุ่มคล้ายเยลลี่  เมื่ออายุมากขึ้นในช่วงวัยกลางคนอาจพบว่ามีร่องหรือรอยร้าวเกิดขึ้นในหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหลัง ถ้ารอยร้าวเป็นมากขึ้นอาจจะทำให้สารที่เป็นของเหลวที่อยู่ตรงกลางของหมอนรองกระดูกสันหลังไหลออกมา ทำให้ไปกดทับเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงไปที่น่องขา และในส่วนของที่ไปกดทับนี้ยังมีสารเคมีบางอย่างไปทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก

อะไรเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

                  เมื่อมีอาการปวดหลังผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ส่วนใหญ่มักจะตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน การใช้หลังอย่างถูกวิธี การปรับเปลี่ยนอริยาบถในขณะยืน นั่งทำงาน และยาลดการอักเสบและยาลดปวดเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท การที่ได้นอนพัก และทำงานเบาๆจะช่วยลดอาการปวดได้ผลดี เมื่ออาการปวดเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยสามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ขณะเดียวกันก็ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อเพื่อที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ร่างกาย ถ้าท่านมีน้ำหนักมากก็จำเป็นที่จะต้องลดน้ำหนัก และท่านที่สูบบุหรี่ก็ควรหยุดสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสที่จะมีอาการปวดหลังอีกครั้ง การรักษาในระยะยาวที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการป้องกัน โดยการฝึกกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้มีอาการปวดหลังมาก ระวังท่าทางในการยกของหนัก ถ้าจำเป็นต้องยก ก็ต้องทำอย่างถูกวิธี

เมื่อไหร่ที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

                  ส่วนใหญ่อาการปวดหลังสามารถรักษาให้หายด้วยวิธีการไม่ต้องผ่าตัด สาเหตุที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพราะต้องการกำจัดเอาสิ่งที่ไปกดทับเส้นประสาทเช่น หมอนรองกระดูกสันหลังออกเนื่องจากเส้นประสาทถูกกด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก แล้วอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรับการรักษาด้วยยา และการปรับเปลี่ยนท่าทางที่ถูกต้องแล้ว ในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ป่วยที่มีอาการของเส้นประสาทกดทับจนมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการอุจจาระหรือปัสสาวะลำบาก

หลังส่วนล่าง

                  หลังประกอบไปด้วยส่วนประกอบคือ
·      กระดูกสันหลัง
·      หมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันแรงกระแทกหรือกันชน และช่วยปกป้องกระดูกสันหลัง 
·      เส้นประสาท
·      กล้ามเนื้อและเอ็นยึดเพื่อสร้างความแข็งแรง และช่วยในการเคลื่อนไหว

การป้องกันอาการปวดหลัง

                  โดยปกติอายุมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่จะช่วยชลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังโดย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
  • ยกของให้ถูกวิธี
  • รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • พยายามจัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม อย่าให้ตัวงอไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง หรือท่ายืน 

 ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407