วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สารพันปัญหาเรื่องปวดหลัง

-->
โรคปวดหลัง

ทำไมถึงเกิดอาการปวดหลังบ่อย

                  โรคปวดหลังเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ พบว่าผู้ใหญ่ประมาณ 4 คนใน 5 คนเคยมีอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้ผู้ป่วยหยุดงาน และขาดรายได้
                  กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวประกอบด้วยโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อที่ซับซ้อน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างร่างกายส่วนบน(ทรวงอก และแขน) กับร่างกายส่วนล่าง(เชิงกราน และขา) กระดูกสันหลังส่วนนี้มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่นการหันตัว การเอนตัว ก้มตัว รวมถึงช่วยในเรื่องของความแข็งแรงที่สามารถทำให้เรายืน เดิน และยกของได้ การทำงานที่เหมาะสมของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังส่วนล่างนี้มีความจำป็นต่อกิจวัตรประจำวันตลอดเวลา อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นจะทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เดินหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก และทำให้คุณภาพของชีวิตแย่ลง

ให้การวินิจฉัยโรคปวดหลังได้อย่างไร

                  ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง และสามารถตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน หรือการรับประทานยาแก้ปวด ศัลยแพทย์กระดูกสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด  การถ่ายภาพเอกซ์เรย์ การตรวจด้วยภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนใหญ่แพทย์จะถามผู้ป่วยเกี่ยวกับลักษณะของอาการปวดหลังว่าท่านมีลักษณะอาการปวดอย่างไร เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อนหรือไม่

มีอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของโรคปวดหลัง

                  มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่นอุบัติเหตุ, ผลจากอายุที่มากขึ้น ทำให้มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง และโรคมะเร็งที่ลุกลามมาที่กระดูกโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปีที่มีอาการเจ็บปวดมากและขณะนอนพักก็ยังมีอาการปวดอยู่
                  อาการปวดหลังเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสันหลังเกร็งตัว กล้ามเนื้อของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวนนี้เป็นส่วนที่สำคัญในเรื่องของการเคลื่อนไหว การทรงตัว  และกิจวัตรประจำวันของร่างกาย เช่นการยืน การเดิน การยกของ ถ้าเรายืนหรือเดินในท่าที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อมีการตึงเครียดมากขึ้น ต่อมาทำให้มีอาการปวดหลังได้ ซึ่งการใช้งานของกล้ามเนื้อหลังมากไปเช่น การยกของหนัก การยืนหรือเดินนานๆทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคปวดหลัง บางครั้งอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ หรือในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการปวดหลังเนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น และท้องที่โตขึ้นจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนแปลงทำให้มีอาการปวดหลังมากขึ้น
                  อายุ-  พบว่าในผู้สูงอายุจะมีกระบวนการเสื่อมสลายของหมอนรองกระดูกสันหลัง และข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลัง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับทุกคนแล้วแต่ว่าใครจะเป็นมากหรือน้อย ถ้ามีการเสื่อมมากก็จะทำให้เกิดอาการหลังแข็ง และปวดหลังตามมา ซึ่งข้อต่อของกระดูกที่มีการเสื่อมสลายจะมีกระดูกงอกออกมาเนื่องจากการเสื่อมของข้อ (อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป)  กระดูกที่งอกออกมานี้อาจจะไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ร่วมกับปวดร้าวไปยังบริเวณสะโพก และร้าวลงไปตามด้านหลังของต้นขา นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะมีอาการชา ซึ่งขึ้นอยู่กับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงผิวหนังบริเวณนั้นๆ ส่วนใหญ่มักมีอาการชาที่บริเวณด้านข้างของขา
                  กระดูกพรุนและเกิดกระดูกสันหลังยุบ-เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกจะบางลงโดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนทำให้กระดูกไม่สามารถทนต่อแรงกระแทกได้จึงทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบลงในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน
                  หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง 2 ชิ้น  ในช่วงวัยเด็ก และวัยหนุ่มสาวตรงกลางของหมอนรองกระดูกจะเป็นส่วนที่อ่อนนุ่มคล้ายเยลลี่  เมื่ออายุมากขึ้นในช่วงวัยกลางคนอาจพบว่ามีร่องหรือรอยร้าวเกิดขึ้นในหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหลัง ถ้ารอยร้าวเป็นมากขึ้นอาจจะทำให้สารที่เป็นของเหลวที่อยู่ตรงกลางของหมอนรองกระดูกสันหลังไหลออกมา ทำให้ไปกดทับเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงไปที่น่องขา และในส่วนของที่ไปกดทับนี้ยังมีสารเคมีบางอย่างไปทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก

อะไรเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

                  เมื่อมีอาการปวดหลังผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ส่วนใหญ่มักจะตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน การใช้หลังอย่างถูกวิธี การปรับเปลี่ยนอริยาบถในขณะยืน นั่งทำงาน และยาลดการอักเสบและยาลดปวดเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท การที่ได้นอนพัก และทำงานเบาๆจะช่วยลดอาการปวดได้ผลดี เมื่ออาการปวดเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยสามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ขณะเดียวกันก็ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อเพื่อที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ร่างกาย ถ้าท่านมีน้ำหนักมากก็จำเป็นที่จะต้องลดน้ำหนัก และท่านที่สูบบุหรี่ก็ควรหยุดสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสที่จะมีอาการปวดหลังอีกครั้ง การรักษาในระยะยาวที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการป้องกัน โดยการฝึกกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้มีอาการปวดหลังมาก ระวังท่าทางในการยกของหนัก ถ้าจำเป็นต้องยก ก็ต้องทำอย่างถูกวิธี

เมื่อไหร่ที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

                  ส่วนใหญ่อาการปวดหลังสามารถรักษาให้หายด้วยวิธีการไม่ต้องผ่าตัด สาเหตุที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพราะต้องการกำจัดเอาสิ่งที่ไปกดทับเส้นประสาทเช่น หมอนรองกระดูกสันหลังออกเนื่องจากเส้นประสาทถูกกด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก แล้วอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรับการรักษาด้วยยา และการปรับเปลี่ยนท่าทางที่ถูกต้องแล้ว ในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ป่วยที่มีอาการของเส้นประสาทกดทับจนมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการอุจจาระหรือปัสสาวะลำบาก

หลังส่วนล่าง

                  หลังประกอบไปด้วยส่วนประกอบคือ
·      กระดูกสันหลัง
·      หมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันแรงกระแทกหรือกันชน และช่วยปกป้องกระดูกสันหลัง 
·      เส้นประสาท
·      กล้ามเนื้อและเอ็นยึดเพื่อสร้างความแข็งแรง และช่วยในการเคลื่อนไหว

การป้องกันอาการปวดหลัง

                  โดยปกติอายุมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่จะช่วยชลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังโดย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกาย และเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
  • ยกของให้ถูกวิธี
  • รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • พยายามจัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม อย่าให้ตัวงอไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง หรือท่ายืน 

 ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น