วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง

การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง


โรคปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ

การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมีเป้าประสงค์ได้แก่

 การประเมินถึงความรุนแรงของอาการปวดหลัง และการจำกัดการทำงาน การประเมินได้แก่

    ระดับความรุนแรงของอาการปวด ซึ่งมีเครื่องมือมาตรวัดความเจ็บปวดได้แก่ Visual analog scale (เส้นวัด 0 - 100 มิลลิเมตร) และ numeric pain scales (ตัวเลข 0 - 10)
    การวัดหน้าที่การทำงาน มีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยในการวัดประเมินการทำงานในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังได้แก่ Roland Morris Disability Questionnaire และ Oswestry Disability Index


 การประเมินเพื่อแยกโรคที่มีพยาธิสภาพที่รุนแรงในบริเวณกระดูกสันหลังซึ่งได้แก่

 มะเร็งท่ีบริเวณกระดูกสันหลัง (Spinal metastases) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะภายในอื่นๆ ผู้ป่วยมักจะมีประวัติของการเป็นมะเร็งของอวัยะหนึ่งอวัยวะใดมาก่อน นำ้หนักลด มีอาการปวดหลังมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน อาการปวดไม่ตอบสนองด้วยวิธีการรักษาแบบปกติ อายุมากกว่า 50 ปี มีอาการปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะกะปิดกะปรอย มีอาการเดินลำบาก มีอาการอ่อนแรงของระยางค์ส่วนล่าง
 กระดูกสันหลังยุบอันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุน (OSteoporotic collapsed vertebra) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยสูงอายุ มีปัญหาโรคกระดูกพรุน มีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
 การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง (Spinal infection) ผู้ป่วยมักมีไข้ อาจมีภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง
 ภาวะการอักเสบของกระดูกสันหลังโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรค Ankylosing spondylitis ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะมีอาการปวดตอนกลางคืน มีข้อยึดติดในตอนเช้า อาการปวดอาจจะดีขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย
 ภาวะเส้นเลือดแดง aorta โป่งพอง (aortic aneurysm) ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีประวัติเป็นโรคผนังหลอดเลือดตีบตัน มีก้อนที่ท้อง มีอาการปวดตอนกลางคืน และบางครั้งอาจจะมีอาการปวดร้าวลงขาได้

กลุ่มอาการของโรคที่มีลักษณะต้องระวังและรับการตรวจสอบหาสาเหตุเพิ่มเติมได้แก่

อายุมากกว่า 50 ปี
อุจจาระลำบาก และกะปริดกะปรอย (Fecal incontinence)
มีปัสสาวะลำบาก  และกะปริดกะปรอย (Urinary incontinence)
ไข้
ลักษณะการเดินที่ผิดปกติไป (Gait abnormality)
มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
มีภาวะการกดภูมิคุ้มกัน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าทางเส้นเลือด
ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยา
เป็นโรคกระดูกพรุน
มีอาการปวดหลายตำแหน่ง
มีอาการปวดขณะพัก
มีอาการปวดมากตอนกลางคืน
มีอาการชาบริเวณรอบๆทวารหนัก (Saddle numbness)
มีประวัติการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ
มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน
นำ้หนักลดที่ไม่ทราบสาเหตุ
มีอาการอ่อนแรงในส่วนของขา
   
    ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพที่รุนแรงบริเวณกระดูกสันหลัง การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีและการตรวจเลือดจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆเหล่านี้เป็นอย่างมาก

 การประเมินเพื่อดูสภาวะของระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่การประเมิน

ระบบการรับความรู้สึกของร่างกาย (sensory systems)
ระบบการเคลื่อนไหวของระยาวงค์ (Motor systems)
ปฏกิริยาการตอบกลับอัตโนมัติของกล้ามเนื้อ (Deep tendon reflex)

 การประเมินเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงได้แก่

ประเด็นของการได้ค่าชดเชยจากอาการปวดหลัง
สภาวะของอารมณ์ของผุ้ป่วย
ปัญหาทางครอบครัว
พฤติกรรมของความกลัว
ความเชื่อที่ไม่เหมาะสม
การที่มีผลกระทบทางระบบประสาทเช่น มีอาการชา อาการอ่อนแรงของระยางค์
มีความไม่พึงพอใจต่องานที่ทำอยู่
เคยมีประวัติปวดหลังมาก่อน และความรุรแรงของอาการปวดหลังค่อนข้างมาก
ความคาดหวังในการรักษาที่ไม่เป็นจริง

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น