วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปวดต้นคอ หมอนรองกระดูกคอเสื่อม

ปัจจุบันประชาชนมักจะมีอาการปวดบริเวณต้นคอเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีสาเหตุจากการพัฒนาเทคโนโลยี การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น ผู้ใช้งานก้มคอใช้อุปกรณ์เหล่านี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยบริเวณต้นคอและกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และสาเหตุอีกอย่างคือประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ประชากรมีอายุเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาของโรคข้อเสื่อมและหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเพิ่มขึ้น จึงทำให้พบปัญหาอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้น  ท่านผู้อ่านคงเคยมีประสบการณ์อาการปวดบริเวณต้นคอบ้าง บางครั้งอาจจะมีอาการปวดต้นคอเวลาตื่นนอนตอนเช้าไม่สามารถหมุนศีรษะได้ มีอาการปวดตั้งแต่บริเวณต้นคอ ท้ายทอยลงบริเวณบ่า  สะบัก ปวดร้าวลงบริเวณหัวไหล่และต้นแขน อาจจะมีอาการชาร้าวลงมือร่วมด้วย  บางครั้งไปนอนสระผมที่ร้านทำผม พอลุกขึ้นมาก็จะรู้สึกมีอาการปวดต้นคอ


สาเหตุของอาการปวดคอ


สามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุและอุบัติการณ์ของการเกิดอาการปวดต้นคอซึ่งสามารถเกิดได้ตั้งแต่อายุ20ปีเป็นต้นไป สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้งานไม่ถูกท่า การนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง การก้มใช้งานมือถือ ทำให้ต้องก้มคอตลอดเวลาซึ่งส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งตัวทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามบริเวณต้นคอและสะบักทั้ง 2 ข้าง  ในบางครั้งที่มีอาการปวดต้นคออย่างรุนแรงอาจจะเกิดเนื่องจากหมอนรองกระดูกต้นคอเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการบวมและอักเสบของเส้นประสาท นอกจากนี้ตัวหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมานั้นจะมีสารที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงต่อเส้นประสารทจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอร้าวลงแขนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในบางรายอาจจะมีอาการชา และอ่อนแรงของแขนในข้างที่เส้นประสาทไปกดทับด้วย เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนใหญ่ประมาณตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป อาการปวดคอส่วนใหญ่มักเกิดจากกระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและการอักเสบของข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลัง บางครั้งหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอมีการเสื่อมและเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท หรือมีกระดูกงอกจากการเสื่อมของกระดูกข้อต่อสันหลังไปกดทับเส้นประสาท

อาการปวดบริเวณคอ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเมื่อยๆบริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ปวดร้าวลงบริเวณบ่า และสะบัก บริเวณไหล่ และข้อศอก ร่วมกับอาการชาลงไปที่มือ และนิ้ว  อาจจะมีความรู้สึกปวดแปล๊บๆเหมือนไฟฟ้าช็อต วิ่งลงแขน  หันศีรษะลำบาก ไม่สามารถหันได้เหมือนปกติ เวลาจะเหลียวมองด้านข้างต้องหันไปทั้งตัว บางครั้งมีอาการปวดมากจนทำให้ไม่สามารถนอนพักได้ นอนไม่หลับ อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อแหงนศีรษะ หรือก้มนานๆ เนื่องจากน้ำหนักของศีรษะไปกระทำตรงบริเวณข้อต่อระหว่างกระดูกเพิ่มมากก็จะทำให้เกิดการอักเสบและช่องทางเดินประสาทแคบลง เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับจะทำให้มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยรากประสาทนั้นๆ เช่น ไม่มีแรงกำมือ หรือกระดกข้อมือ มีอาการปวดจากท้ายทอยขึ้นไปยังศีรษะ และอาจมีอาการปวดร้าวออกเบ้าตา ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมาเป็นระยะเวลานานก็ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดและกังวล กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
    ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดินทางนั่งบนรถ หรือนั่งเครื่องบินแล้วเผลอหลับ เวลาตื่นขึ้นมาจะมีอาการปวดต้นคอ สาเหตุอันเนื่องมาจากในขณะที่นอนหลับในท่านั่งนั้นน้ำหนักของศีรษะจะทำให้คอก้มลงมาทางด้านหน้า  ซึ่งเป็นท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดอาการเกร็ง ตึงตัวของกล้ามเนื้อรอบๆบริเวณลำคอ ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อ จึงทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรอบๆที่บริเวณลำคอ บ่า 







การวินิจฉัยโรค
    การวินิจฉัยโรคเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการซักประวัติอาการปวดของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายของแพทย์ ซึ่งถ้ามีอาการปวดมากแพทย์อาจส่งตรวจภาพถ่ายเอกซเรย์บริเวณกระดูกต้นคอ ซึ่งมักจะพบว่ามีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกต้นคอ สังเกตได้จากความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังมีขนาดลดลง เพราะปกติหมอนรองกระดูกมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำ และเมื่อเกิดกระบวนการเสื่อมจะทำให้ปริมาณน้ำในหมอนรองกระดูกลดปริมาณลง และในบางครั้งอาจเกิดการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกชั้นในออกมากดทับเส้นประสาท นอกจากนี้อาจจะพบลักษณะของกระดูกงอกออกไปกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย ในบางกรณีถ้าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัง อาการปวดไม่บรรเทาลงหลังจากการให้การรักษาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจจะพิจารณาส่งผู้ป่วยไปตรวจด้วยภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะช่วยแสดงรอยโรคได้ชัดเจนมากกว่าภาพถ่ายรังสีธรรมดา









การป้องกันและการรักษา

1.การปรับเปลี่ยนท่าทางและการใช้ชีวิตประจำวัน พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งอ่านหนังสือนานๆ การก้มคอใช้โทรศัพท์มือถือ การแหงนศีรษะ เมื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจำเป็นต้องปรับตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา การเปลี่ยนอิริยาบถในขณะทำงานกับจอคอมพิวเตอร์นานๆ แม้กระทั่งการนอนดูโทรทัศน์นานๆก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดคอได้ ดังนั้นควรมีการปรับท่าทางให้เหมาะสมเช่นควรนั่งดูโทรทัศน์มากกว่าการนอน ไม่ก้มคอใช้งานโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
เมื่ออายุมากขึ้น ควรจะหลีกเลี่ยงกีฬาบางประเภทเพราะอาจจะทำให้มีอาการปวดต้นคอเพิ่มมากขึ้นได้เช่น  แบดมินตัน เพราะมักจะต้องแหงนศีรษะเวลาตีลูก ซึ่งจะทำให้ช่องทางเดินประสาทแคบลงเมื่อแหงนศีรษะ ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทเพิ่มมากขึ้น และเกิดการอักเสบของกระดูกสันหลังบริเวณข้อต่อ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอมากควรหลีกเลี่ยงการนอนสระผมที่ร้านทำผม เพราะการนอนสระผมจะมีการแหงนศีรษะมากทำให้ช่องทางเดินประสาทแคบลง และทำให้กระดูกข้อต่อเกิดการอักเสบ จึงทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้นได้  และไม่ควรแหงนศีรษะเป็นระยะเวลานานเพราะจะทำให้กระดูกข้อต่อสันหลังบริเวณคอเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
2. การทำกายภาพบำบัด ด้วยการดึงคอ เป็นการใช้แรงดึงกระทำต่อร่างกายและกระดูกสันหลังส่วนคอ ช่วยทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังส่วนบริเวณคอกว้างขึ้น ลดการกดทับเส้นประสาท ช่วยในการยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการบำบัดรักษา คลื่นเหนือเสียงที่มีความถี่ 20,000 รอบต่อนาที ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความร้อนลึกเฉพาะที่ ส่งผลในการช่วยลดอักเสบ อาการปวด เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ ช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลง
3. การรับประทานยาลดปวด ยาลดการอักเสบ ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ในการลดปวดตามส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งยาแต่ละชนิดก็ออกฤทธิ์แตกต่างกัน ก็ช่วยทำให้อาการปวด อาการชาทุเลาลงได้ ข้อควรระวังในการใช้ยาลดการอักเสบคือต้องรับประทานยาหลังอาหารทันทีเพราะอาจจะมีผลทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานเกิน 1 เดือน
4. การฉีดยาชาระงับปวดเข้าไประหว่างชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งตัว เพื่อลดการนำสื่อประสาท จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อตรงบริเวณคอ และบริเวณบ่าและกล้ามเนื้อรอบๆสะบัก คลายตัวลง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการปวดได้ดีมากโดยเฉพาะในช่วงระยะ 2 สัปดาห์หลังการฉีด
หลังจากฉีดยา อาการปวดจะทุเลาลงเป็นอันดับแรก ต่อมาอาการชาตามแขนและมือจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะกังวลกลัวว่าจะเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต จากอาการชา เนื่องจากโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ซึ่งถ้าแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดและให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ก็จะช่วยทำให้ผู้ป่วยคลายความกังวลลงไปได้  โดยทั่วไปอาการปวด ปวดชาร้าวลงแขนจะค่อยๆดีขึ้น ใช้ระยะเวลาประมาณ  3 – 4 เดือน ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 สามารถให้การรักษาด้วยวิธีการข้างต้นได้ผลเป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังบริเวณคอจะทำในกรณีที่ มีการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกร็ง ตัวแข็งเดินเกร็ง  ก้าวเดินลำบาก มีอาการอ่อนแรงของแขน และขา  อุจจาระและปัสสาวะลำบากไม่สามารถควบคุมได้จึงจำเป็นต้องผ่าตัด  ถ้าผู้ป่วยมีแค่เพียงอาการปวดต้นคอ ปวดร้าวลงแขนและมือ หรือมีอาการชาร่วมด้วย เราสามารถให้การรักษาด้วยวิธีการข้างต้นได้ผลเป็นอย่างดี โดยไม่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
การเกิดกระดูกคอเสื่อมและการเกิดกระดูกงอกที่บริเวณข้อต่อระหว่างกระดูกนั้นเกิดจากกระบวนการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง จึงทำให้เกิดกระดูกงอกและบางครั้งทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยบางท่านมีความกังวลใจว่าการรับประทานแคลเซียมวันละ 1 เม็ดนั้นหรือการรับประทานแคลเซียมมาเป็นระยะเวลานานมีผลทำให้เกิดภาวะกระดูกงอกหรือไม่ การรับประทานแคลเซียมวันละ 1 เม็ดในปริมาณประมาณ 600 มิลลิกรัมนั้น ไม่มีผลทำให้เกิดกระดูกงอกอันใดเลยเพราะสาเหตุของการเกิดกระดูกงอกตามส่วนต่างๆของข้อและกระดูกนั้นเกิดจากกระบวนการเสื่อมของร่างกาย ไม่เกี่ยวกับการรับประทานแคลเซียม


การดึงคอเพื่อลดอาการปวด 



การนวดด้วยเครื่อง ultrasound 


การฉีดยาชาโดยใช้ ultrasound เป็นตัวนำระหว่างชั้นกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดได้ดีมาก









ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com ,
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง(https://www.facebook.com/Doctorkeng)
 line ID search : keng3407

6 ความคิดเห็น:

  1. ผมอย่างนี้เลย ตีแบดทุก ใหม่ ๆ ก็ไม่เป็นไรนานๆเข้าปวดไม่หาย คงต้องหยุดตีซะแล้วตอนเล่นไม่เป็นไร พอหยุดเล่น และตอนเช้าขยับปวดมากเลย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. กระดูกต้นคอรับนำ้หนักเพิ่มมากขึ้นในขณะที่แหงนศรีษะโดยเฉพาะตอนตีแบดครับ

      ลบ
    2. การเล่นกีฬาเช่น การตีแบด การเล่นบาสเก็ตบอลจะทำให้ผู้เล่นต้องแหงนศีรษะมาก ทำให้เพิ่มแรงกระทำต่อข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ และอาจจะกดเส้นประสาท ก็จะทำให้มีอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้นครับ

      ลบ
  2. ผมเป็นกระดูกคอเสื่อมครับ อ.หมอ รพ.สมเด็จศรีราชาวินิจฉัยแล้ว มีอาการปวดที่คอและมีร้าวลงบ่าบ้างบางครั้ง เคยทำกายภาพบำบัดก็ไม่ดีขึ้น ตอนหลังเลยไม่ได้ทำการรักษาต่อ หันไปเล่นกีฬาบาสเก็ตบอล แบบเล่นคนเดียวเพื่อออกกำลังกาย ปรากฎว่า อาการปวดลดลง ไม่แน่ใจว่ามีผลมาจากการออกกำลังกายตามที่กล่าวหรือไม่ หรือจะทำให้อาการเลวร้ายมากขั้น โรคนี้รักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดได้หรือไม่ และทำอย่างไร รบกวนอาจารย์หมอด้วยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. การเล่นกีฬาเช่น การตีแบด การเล่นบาสเก็ตบอลจะทำให้ผู้เล่นต้องแหงนศีรษะมาก ทำให้เพิ่มแรงกระทำต่อข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ และอาจจะกดเส้นประสาท ก็จะทำให้มีอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้นครับ

      ลบ
  3. ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ สรีระในการนอนด้วย
    หมอนที่ใส่ใจคุณ หมอนยางพารากลิ่นลาเวนเดอร์ จาก " Thai Royal Vanka "
    ✔ ยางพาราแท้ 100%
    ✔ กลิ่นลาเวนเดอร์
    ✔ เหมาะสำหรับคนชอบนอนหงาย
    ✔ ช่วยลดอาการนอนกรน
    ✔ ลดปัญหาการนอนตกหมอน
    ✔ รองรับบ่าและไหล่ของคุณอย่างดี
    ซื้อเลยวันนี้ หมอนหอมๆที่นอนแล้วดีรอคุณอยู่นะ Zzz..
    #หมอนยางพารา#หมอนยางพารากลิ่นลาเวนเดอร์#ลาเวนเดอร์

    ตอบลบ